วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

pokemon




โปเกมอน
โปเกมอน (ญี่ปุ่น: ポケモン Pokémon ?) หรือในชื่อเต็มว่า พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ (ญี่ปุ่น: ポケットモンスター Poketto Monsutā ทับศัพท์จาก Pocket Monster ?) เป็นวิดีโอเกมแนว RPG ผลิตและพัฒนาโดยนินเทนโด และสร้างขึ้นโดยซาโตชิ ทาจิริ ในราว ๆ พ.ศ. 2538 ในตอนแรกเป็นเกมสำหรับเล่นกับเกมบอยที่สามารถเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องต่อเครื่องได้ โปเกมอนกลายมาเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับ 2 รองจากเกมชุดมาริโอ[1] และได้กำไรดี โปเกมอนนอกจากจะทำเป็นเกมแล้ว ยังทำออกมาเป็นการ์ตูนอะนิเมะ มังงะ การ์ดเกม ของเล่น หนังสือ และสื่ออื่นๆ ทางแฟรนไชส์ของโปเกมอนได้ฉลองครบรอบ 10 ปีโปเกมอนไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา และในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ยอดขายเกมรวมทั้งเครื่องเล่นนินเทนโด 64 ลายพิกะจู เพิ่มถึงกว่า 175 ล้านสำเนา[2]
คำว่าโปเกมอน (Pokémon) เป็นการลดรูปคำแบบโรมันจากตราภาษาญี่ปุ่น "พ๊อคเก็ต มอนสเตอร์" คำว่าโปเกมอน จะหมายถึงสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ 493 ชนิด ที่ปรากฏให้เห็นในสื่อต่าง ๆ ของโปเกมอน เช่นในการเกมสวมบทบาทใหม่ล่าสุด บนเครื่องนินเทนโด ดีเอส นั่นคือโปเกมอนภาคไดมอนด์ และเพิร์ล
โปเกมอนนอกจากจะถูกสร้างเป็นอะนิเมะถึง 12 ซีซัน เป็นเกม เป็นการ์ดเกม และของเล่นต่างๆแล้ว ยังเคยถูกสร้างเป็นการ์ตูนฉบับภาพยนตร์มาแล้วเป็นจำนวน 12 ตอน
ในประเทศไทย ได้มีการนำการ์ตูนโปเกมอนมาฉายทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ประมาณปี พ.ศ. 2544 และหลังจากปี พ.ศ. 2548 การ์ตูนเรื่องนี้ได้หายไปจากรายการกว่า 3 ปี และกลับมาอีกครั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 และได้ยุติการออกอากาศเมื่อเดือนมีนาคม 2552 และทางสถานีได้นำมาออกอากาศต่ออีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2553
ชื่อและการออกเสียง
ในประเทศญี่ปุ่นเรียกโปเกมอนว่า พ็อคเก็ตมอนสเตอร์ (Pocket Monsters) ซึ่งเป็นชื่อที่แพร่เข้าสู่อเมริกาเหนือ แต่ชื่อพ็อคเก็ตมอนสเตอร์ (Pocket Monsters) นี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทะเบียนการค้าของ มอนสเตอร์ อิน มาย พ็อคเก็ต ที่เป็นชื่อของสื่อการ์ตูนในแถบนั้นเช่นกัน ดังนั้นทางนินเทนโดจึงตัดสินใจที่จะใช้ชื่อที่สั้นลง และใช้ชื่อใหม่นี้กับญี่ปุ่นด้วย โดยเปลี่ยนชื่อมาเป็น โปเกมอน โดยคำว่า "โปเก (Poké)" นั้นมาจากคำว่า พ็อคเก็ต (pocket) ที่แปลว่ากระเป๋า และ "มอน (Mon)" แปลงมาจากคำว่า มอนสเตอร์ (Monsters) ที่แปลว่าสัตว์ประหลาดนั่นเอง
เนื่องจากการเน้นเสียงในชื่อโปเกมอน มีการอ่านออกเสียงที่เฉพาะเจาะจงว่า โพค-เอ-มอน จะอ่านโดยการเน้นออกเสียงพยางค์ที่สอง แต่การอ่านออกเสียงที่ผิดก็มีอย่างเช่น โพค-อี-มอน โพค-เอ-มัน และพ็อค-อา-มอน เป็นต้น[3]
ประวัติ
โปเกมอน ถูกคิดขึ้นโดยนายซาโตชิ ทาจิริ นักเขียนโปรแกรมชาวโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยโปเกมอนจะเป็นตัวการ์ตูนที่เลียนแบบสัตว์ต่าง ๆ ในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็น กิ้งก่า หนอน ดักแด้ ผีเสื้อ ผึ้ง หนู กระรอก ตัวตุ่น เป็ด ลูกอ๊อด กบ เป็นต้น หรือจะเป็นพืช เช่น ต้นมะพร้าว เป็นต้น โดยผู้ที่เป็นเจ้าของโปเกมอน ร่วมเดินทาง ร่วมผจญภัยไปพร้อมกับโปเกมอนจะเรียกว่า ผู้ฝึกโปเกมอน (Pokémon Trainer) โดยเนื้อเรื่องของโปเกมอนนั่นเป็นเรื่องของการผจญภัยของตัวละครเอกที่มีชื่อว่า ซาโตชิ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับผู้คิดค้น ร่วมเดินทางไปกับโปเกมอนคู่หูที่มีชื่อว่า "พิกะจู" โปเกมอนหนู รูปแบบไฟฟ้า ซึ่งได้รับจากตัวละครด็อกเตอร์ออร์คิดส์ โปเกมอนตัวนี้เป็นโปเกมอนที่มีผู้คนรู้จักและถูกพูดถึงมากที่สุด และสมุดภาพโปเกมอน (Pokédex) โดยมีเพื่อนร่วมทางอย่าง คาสึมิ และทาเคชิ และมีกลุ่มแก๊งค์วายร้ายที่หวังจะชิงตัวพิกะจูไปจากพวกซาโตชิ แก๊งค์นี้คือ แก๊งร็อกเก็ต (Team Rocket) แต่ก็ถูกโปเกมอนของพวกซาโตชิกำจัดไปได้ทุกตอน และในภาคต่อมา ก็มีตัวละครใหม่ที่ร่วมเดินทางกับซาโตชิ คือ ฮารุกะ และ มาซาโตะซึ่งออกตัวในPokemon Advance Gerenetion เคนจิในPokemon Part2และ ฮิคาริในDiamond & Pearl
การสะสมและระบบการเล่น
ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับโปเกมอน ทั้งในวิดีโอเกมและโลกนิยายโปเกมอนทั่ว ๆ ไป เกิดขึ้นทางการสะสมแมลง งานอดิเรกที่นิยมกันซึ่งซาโตชิ ทาจิริ โอนิวะ สนุกกับมันตอนเป็นเด็ก ตัวที่ผู้เล่นควบคุมในเกมนี้จะเรียกว่า ผู้ฝึกโปเกมอน (Pokémon Trainers) และจุดมุ่งหมายในเกมโปเกมอนส่วนใหญ่ 2 อย่างของผู้ฝึกโปเกมอนคือการล่าจับโปเกมอนครบทุกสายพันธุ์ที่พบในดินแดนของเกมและบันทึกไว้ในสมุดภาพโปเกมอน (Pokédex) และอีกอย่างคือการฝึกโปเกมอนในทีมที่จับมาได้เพื่อต่อสู้กับโปเกมอนของผู้ฝึกโปเกมอนคนอื่น และในที่สุดก็จะเป็นผู้ฝึกที่แข็งแกร่งที่สุดที่เรียกว่า โปเกมอนมาสเตอร์ (Pokémon Master) การสะสม การฝึก และการต่อสู้พวกนี้มีอยู่ในแฟรนไชส์โปเกมอนแทบทุกเวอร์ชัน ซึ่งประกอบไปด้วยวิดีโอเกม ซีรีส์อะนิเมะ ซีรีส์มังงะ และโปเกมอนเทรดดิงการ์ดเกม (Pokémon Trading Card Game)
ผู้ฝึกโปเกมอนต้องเผชิญหน้ากับโปเกมอนป่าและจับมันได้โดยการเขวี้ยงโปเกบอล (Poké Ball) หรือในการ์ตูนอะนิเมะมักเรียกมันว่า มอนสเตอร์บอล (Monster Ball) ถ้าโปเกมอนหนีออกจากโปเกบอลไม่ได้ โปเกมอนตัวนั้นก็จะตกเป็นของผู้ฝึกโปเกมอนที่จับมันได้ทันที และหลังจากนั้น มันจะเชื่อฟังคำสั่งของผู้ฝึกคนนั้น ถ้าผู้ฝึกไม่ฝึกสอนอะไรให้มันเพียงพอต่อค่าประสบการณ์ มันก็จะทำท่าทางตามใจของมันเอง ผู้ฝึกสามารถเรียกโปเกมอนออกไปเพื่อต่อสู้กับโปเกมอนตัวอื่น ซึ่งถ้าเป็นโปเกมอนป่า ผู้ฝึกโปเกมอนสามารถจับมันได้ด้วยโปเกบอล เป็นการเพิ่มเหล่าโปเกมอนในคอลเลคชันของพวกเขา แต่จะจับโปเกมอนของผู้ฝึกคนอื่นไม่ได้ ยกเว้นตามเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในเกม ถ้าโปเกมอนสามารถเอาชนะโปเกมอนฝ่ายตรงข้ามได้ในการต่อสู้ โปเกมอนตัวนั้นจะหมดสติ โปเกมอนที่เอาชนะได้จะได้ค่าประสบการณ์เพิ่มและอาจจะเพิ่มเลเวล เมื่อเลเวลเพิ่มขึ้น ค่าพลังสถานะต่าง ๆ ของโปเกมอนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งประกอบด้วยพลังโจมตี ความเร็ว เป็นต้น ในบางครั้งโปเกมอนอาจได้เรียนรู้ท่าใหม่ ๆ ที่ใช้ในการต่อสู้ นอกจากนั้น โปเกมอนหลายสายพันธุ์สามารถเปลี่ยนร่างเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่คล้ายร่างเก่าแต่มีความแข็งแรงกว่า เรียกสิ่งนี้ว่า วิวัฒนาการของโปเกมอน
ในเกมโปเกมอน ผู้ฝึกโปเกมอนจะต้องนำโปเกมอนในทีมมาต่อสู้กับ NPC และโปเกมอนของพวกเขา ในแต่ละเกมจะวางทางเดินเนื้อเรื่องไว้เฉพาะสำหรับการผจญภัยของผู้ฝึก กล่าวถึงยิมลีดเดอร์ (Gym Leader) ซึ่งผู้ฝึกจะต้องเอาชนะเขาให้ได้เพื่อเดินเรื่องต่อไป และได้เข็มกลัดมาเป็นรางวัล และเมื่อใดที่ผู้ฝึกสะสมเข็มกลัดเหล่านี้ได้ครบ 8 อัน ผู้ฝึกจะสามารถเข้าไปต่อสู้ในโปเกมอนลีก ที่ซึ่งมีผู้ฝึกเก่งกล้าสามารถ หรือเรียกว่า จตุรเทพทั้งสี่ (Elite Four) ต้องต่อสู้กับผู้ฝึกเหล่านั้นทั้ง 4 คนต่อเนื่องกัน ถ้าผู้ฝึกโปเกมอนเอาชนะเหล่าเทพเหล่านี้ได้ เขาจะต้องไปต่อสู้กับแชมเปียนประจำท้องที่ (Regional Champion) ผู้ซึ่งเอาชนะจตุรเทพทั้ง 4 คนมาก่อนหน้าเราได้ และผู้ฝึกโปเกมอนที่เอาชนะการต่อสู้ครั้งสุดท้ายได้ก็จะกลายมาเป็นแชมเปียนคนใหม่และได้พบกับฉากจบ
วิดีโอเกม
ซอฟต์แวร์เกมโปเกมอนที่พัฒนาโดยบริษัทนินเทนโด ได้รับความนิยมอย่างสูงจนมีการสร้างเกมภาคต่อและภาคเสริมออกมาอีกหลายภาค โดยเกมโปเกมอนถูกผลิตขึ้นให้เล่นกับเครื่องเล่นต่าง ๆ มากมายเช่น เกมบอย เกมบอยคัลเลอร์ เกมบอยแอดวานซ์ นินเทนโด 64 นินเทนโด ดีเอส เกมคิวบ์ เป็นต้น โดยชื่อภาคของโปเกมอนในเกมบอยนั้น รุ่นแรกถึงรุ่นที่สองจะตั้งเป็นชื่อสี เช่น รุ่นที่หนึ่งได้แก่ เร้ด (แดง) บลู (น้ำเงิน) กรีน (เขียว) เยลโล่ว์ (เหลือง) รุ่นที่สองได้แก่ โกลด์ (ทอง) ซิลเวอร์ (เงิน) และอีกหนึ่งภาคหนึ่งของรุ่นที่สองที่ไม่ใช่สีคือ คริสตัล แต่ตั้งแต่รุ่นที่สามจนถึงรุ่นที่สี่ในปัจจุบัน จะเป็นชื่ออัญมณี เช่น รุ่นที่สามได้แก่ รูบี้ (ทับทิม) ซัฟไฟร์ (หินซัฟไฟร์) เอเมอรัลด์ (มรกต) รุ่นที่สี่ได้แก่ ไดมอนด์ (เพชร) เพิร์ล (ไข่มุก) แพลทินัม (ทองคำขาว) เป็นต้น นอกจากนี้ โปเกมอนภาคไดมอนด์ และเพิร์ล ที่ออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2549 ยังเป็นเกมประเภท RPG ที่ขายได้มากที่สุดสำหรับเครื่อง นินเทนโด ดีเอส และต่อมาก็มีภาคใหม่ออกมาคือ Heart Gold และSoul Silver[4] แต่ในปี พ.ศ. 2553 จะมีโปเกมอนภาคใหม่ (รุ่นที่ 5) ได้ออกมาเล่นกัน มีชื่อว่า โปเกมอนแบล็คแอนด์ไวท์ (Pokémon Black & White) ซึ่งจะลงในเครื่องเล่นเกม นินเทนโด DS และจะวางจำหน่ายในตลาดที่ประเทศญี่ปุ่นวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 2010
รุ่น (เจเนอเรชัน)
ดูเพิ่มที่รุ่น (เจเนอเรชัน)
เกมโปเกมอนฉบับดั้งเดิมที่สร้างโดยซาโตชิ ทาจิริ บนเครื่องเกมบอย เป็นเกมแนวบทบาทสมมุติ (RPG) เชิงวางแผน เกมหลักของเกมโปเกมอนดังกล่าวหมายรวมถึงเกมภาคต่อมา ภาคทำใหม่ และภาคที่แปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย และเหล่าผู้เล่นเกมจะเรียกมันง่าย ๆ ว่า "เกมโปเกมอน" คุณสมบัติของโปเกมอนเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทในเครือของโปเกมอน (The Pokémon Company) ได้แบ่งไว้เป็นรุ่น ๆ (Generation) รุ่นของโปเกมอนจะเรียงไว้ตามปีที่เปิดตัว ทุก ๆ หลายปี เมื่อโปเกมอนภาคต่อที่เป็นทางการจะเปิดเผยเหล่าโปเกมอนตัวใหม่ ๆ ตัวละครใหม่ ๆ และความคิดรวบยอดของเกม โดยภาคต่อเหล่านี้จะเป็นภาคที่เปิดเผยเหล่าโปเกมอนรุ่นใหม่นั่นเอง เกมหลัก อะนิเมะ มังงะ และเทรดดิงการ์ดเกมก็จะมีการอัปเดตเมื่อมีโปเกมอนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นมา
แฟรนไชส์โปเกมอนเริ่มเปิดตัวเกมโปเกมอนรุ่นที่หนึ่ง ในชื่อ โปเกมอน "อาคะ" และ "มิโดริ" (Pocket Monsters Aka and Midori) (หรือโปเกมอนภาค เร้ด และ กรีน) บนเครื่องเกมบอยในญี่ปุ่น เมื่อเกมได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ก็ได้สร้างโปเกมอนภาคปรับปรุงใหม่ "อาโอะ" (ภาคบลู) หลังจากปล่อยออกมาได้ช่วงหนึ่ง โปเกมอนภาคอาโอะก็ได้ถูกทำใหม่ในชื่อโปเกมอนเร้ดและบลู สำหรับนานาชาติ เกมเปิดตัวในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 โปเกมอนภาคอาคะและมิโดริฉบับดั้งเดิมไม่เคยวางขายนอกประเทศญี่ปุ่น[6] ต่อภายหลัง ได้มีการสร้างโปเกมอนรีเมคในชื่อโปเกมอน เยลโล่ว์: สเปเชียล พิกะจู อีดิชัน (Pokémon Yellow: Special Pikachu Edition) เพื่อลองทำเกมโปเกมอนแบบภาพสีลงบนเครื่องเกมบอยคัลเลอร์ รวมทั้งมีลักษณะส่วนประกอบของเกมมาจากโปเกมอนฉบับอะนิเมะ โปเกมอนรุ่นแรกเปิดตัวโปเกมอนทั้งหมด 151 สายพันธุ์ (ในสมุดภาพโปเกมอนสากล ได้เรียงโปเกมอนตามลำดับจากฟุชิงิดาเนะจนถึงมิว) รวมถึงความคิดรวบยอดของเกมในการจับโปเกมอน การฝึกฝน การต่อสู้ และการแลกเปลี่ยนโปเกมอนระหว่างเครื่องเล่นสองเครื่อง เนื้อเรื่องของเกมเวอร์ชันนี้เกิดขึ้นในเขตคันโต แต่ชื่อเขตคันโตไม่เคยได้ใช้จนถึงโปเกมอนรุ่นที่สอง ซึ่งเริ่มเปิดตัวในปี พ.ศ. 2543 กับเกมโปเกมอนภาคโกลด์และซิลเวอร์ (Pokémon Gold and Silver) บนเครื่องเกมบอยคัลเลอร์ และภาครีเมคต่อมาในภาคคริสตัล ในรุ่นที่สองนั้นมีโปเกมอนเพิ่มมาอีก 100 ตัว (ตั้งแต่ชิโกริตะถึงเซเลบี) รวมเป็น 251 ตัว ส่วนโปเกมอนมินิเป็นเกมคอนโซลแฮนด์เฮลด์ (handheld game console) ได้วางขายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 ในญี่ปุ่น และปี พ.ศ. 2545 ในยุโรปและอเมริกา
โปเกมอนเริ่มเข้าสู่รุ่นที่สามด้วยเกมโปเกมอนภาครูบี้และซัฟไฟร์สำหรับเกมบอยแอดวานซ์ และต่อด้วยเกมภาครีเมคของภาคเร้ดและบลู ในโปเกมอนภาคไฟร์เร้ดและลีฟกรีน ต่อด้วยภาครีเมคอีกภาคจากภาครูบี้และซัฟไฟร์ในชื่อโปเกมอนภาคเอเมรัลด์ โปเกมอนในรุ่นที่สามนี้เปิดตัวโปเกมอนใหม่ถึง 135 สายพันธุ์ (เริ่มตั้งแต่คิโมริจนถึงเดโอคิชิสุ) รวมเป็น 386 สายพันธุ์ โปเกมอนรุ่นนี้ได้รวบรวมข้อเสนอที่จะตัดคุณสมบัติบางอย่างออกไป เช่น ระบบเวลากลางวันกลางคืนซึ่งได้แสดงไว้ในรุ่นที่สอง และยังเป็นโปเกมอนภาคแรกที่มีโปเกมอนเพียงแค่ 202 ตัวที่มีให้จับในภาครูบี้และซัฟไฟร์จากจำนวนโปเกมอนทั้งหมด 386 ตัวให้ผู้เล่นได้สะสมกัน ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศญี่ปุ่นเริ่มสร้างโปเกมอนรุ่นต่อมาคือรุ่นที่สี่ ในเกมโปเกมอนภาคไดมอนด์และเพิร์ล ที่สร้างไว้สำหรับนินเทนโด ดีเอส โปเกมอนรุ่นที่สี่นี้เปิดตัวโปเกมอนใหม่อีก 107 สายพันธุ์ (ตั้งแต่เนอิโทรุจนถึงอารุเซอัส) ทำให้มีโปเกมอนทั้งสิ้น 493 สายพันธุ์[7] ระบบจอสัมผัส (touch screen) ของเครื่องเล่นนินเทนโด ดีเอส ช่วยทำให้เห็นคุณสมบัติใหม่เช่น การทำขนมมัฟฟินโปเกมอน (poffin; Pokémon + muffin) และในการใช้นาฬิกาโปเกมอน (Pokétch; Pokémon + watch) โดยใช้ปากกาที่ให้มากับเกม ความคิดรวบยอดในระบบเกมภาคใหม่นี้ได้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดแยกกระบวนท่า การเล่นเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนหรือต่อสู้กันหลายคนโดยใช้ระบบการเชื่อมต่อแบบ นินเทนโดไว-ไฟ (Nintendo Wi-Fi Connection) มีระบบเวลากลางวันกลางคืนจากรุ่นที่สอง ระบบการประกวดโปเกมอนจากรุ่นที่สาม และเขตใหม่ในเขตซินโน ซึ่งจะมีคุณสมบัติลับสำหรับเล่นหลายคน ต่อมาก็มีโปเกมอนภาครีเมคจากภาคไดมอนด์และเพิร์ลเช่นเดียวกับภาคเยลโล่ว์ คริสตัล และเอเมอรัลด์ ในโปเกมอนภาคแพลททินัม ซึ่งยังมีคุณสมบัติใหม่อีกมากมาย ต่อมายังมีเกมซึ่งมีลักษณะคล้ายเกมโปเกมอนสเตเดียม นั่นคือโปเกมอนแบทเทิลเรฟโวลูชัน (Pokémon Battle Revolution) สำหรับเครื่องเล่นวี ซึ่งมีระบบการเชื่อมต่อแบบไว-ไฟ (Wi-Fi) ด้วย[8]
ระบบของเกม
ดูบทความหลักที่ ระบบของเกมโปเกมอน
เกมโปเกมอนซึ่งเป็นเกมแนวบทบาทสมมุติ มีความคิดรวบยอด ไอเทม และความหลากหลายของความเชื่องของโปเกมอนที่แตกต่างกัน ในแต่ละรุ่นนั้นจะแสดงให้เห็นสิ่งเหล่านั้นเพิ่มขึ้น ดึงดูดผู้เล่นและทำให้เพลิดเพลิน ความคิดรวบยอดโดยทั่วไปที่ได้เปิดตัวไว้ที่อื่นแล้วก่อนที่จะเปิดตัวในเกม เช่น การต่อสู้แบบดับเบิลแบทเทิล ที่ปรากฏในอะนิเมะมานานก่อนที่จะปรากฏในเกม และความสามารถเฉพาะตัวของโปเกมอนที่ดูคล้ายค่าพลังของโปเกมอนในโปเกมอนเทรดดิงการ์ดเกม
โปเกมอนเริ่มต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่สอดคล้องกันของเกมโปเกมอน ตั้งแต่โปเกมอนภาคเร้ดและบลูบนเครื่องเกมบอย ไปจนถึงภาคไดมอนด์และเพิร์ลบนเครื่องนินเทนโด ดีเอส เป็นตัวเลือกของผู้เล่นที่สามารถเลือกโปเกมอนหนึ่งในสามที่กำหนดไว้เป็นตัวเริ่มต้นของการผจญภัย เรียกโปเกมอนสามตัวเหล่านี้ว่า "โปเกมอนเริ่มต้น" ผู้เล่นสามารถเลือกโปเกมอนรูปแบบพืช รูปแบบไฟ หรือรูปแบบน้ำได้[9] ตัวอย่างเช่น ในโปเกมอนภาคเร้ดและบลู (และภาคไฟร์เร้ดและลีฟกรีน) ผู้เล่นสามารถเลือกฟุชิงิดาเนะ ฮิโตะคาเงะ และเซนิกาเมะ แต่ในโปเกมอนภาคเยลโล่ว์ ซึ่งเป็นภาคที่สร้างขึ้นโดยมีเนื้อเรื่องอ้างอิงตามเนื้อเรื่องของอะนิเมะ ผู้เล่นจะได้รับพิกะจู รูปแบบไฟฟ้า มาเป็นโปเกมอนเริ่มต้น แต่อย่างไรก็ตาม ในภาคนี้ ผู้เล่นจะได้รับโปเกมอนเริ่มต้นสามตัวของภาคเร้ดและบลูระหว่างทางในภายหลัง[10] อีกด้านหนึ่ง คู่แข่งของผู้เล่นจะเลือกโปเกมอนเริ่มต้นที่มีรูปแบบได้เปรียบกับโปเกมอนของเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้เล่นเลือกโปเกมอนรูปแบบพืช คู่แข่งก็จะเลือกโปเกมอนรูปแบบไฟ เป็นต้น แน่นอนว่า โปเกมอนภาคเยลโล่ว์ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน ที่คู่แข่งจะเลือกอีวุยเป็นโปเกมอนเริ่มต้น ซึ่งต่อมาอีวุยสามารถพัฒนาร่างได้เป็นธันเดอร์ส ชาวเวอร์ส หรือบูสเตอร์ก็ได้ ซึ่งจะตัดสินจากการที่ผู้เล่นชนะหรือแพ้การต่อสู้กับคู่แข่งระหว่างทาง
สมุดภาพโปเกมอน
สมุดภาพโปเกมอน (Pokédex) เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในอะนิเมะและวิดีโอเกมโปเกมอน สำหรับในเกมนั้น เมื่อใดที่โปเกมอนตัวใดถูกจับเป็นครั้งแรก ข้อมูลของมันจะเพิ่มเข้าไปในสมุดภาพนี้ แต่ในอะนิเมะหรือมังงะนั้น สมุดภาพโปเกมอนเป็นสารานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ปกติมีไว้เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของโปเกมอน สมุดภาพโปเกมอนยังใช้ในการอ้างอิงถึงรายชื่อโปเกมอนซึ่งโดยทั่วไปจะเรียงตามหมายเลข ในวิดีโอเกม ผู้ฝึกโปเกมอนจะเห็นเป็นที่ว่างเปล่าขณะเริ่มต้นเกม ผู้ฝึกจะต้องพยายามเติมเต็มสมุดภาพโดยเผชิญหน้ากับโปเกมอน และจับมันให้ได้สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ผู้เล่นจะเห็นชื่อและรูปภาพของโปเกมอนหลังจากได้พบเจอโปเกมอนที่ไม่เคยเจอมาก่อน หลังจากการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นโปเกมอนป่า หรือการต่อสู้กับผู้ฝึกคนอื่น (ยกเว้นการต่อสู้แบบเชื่อมต่อเครื่องเล่นกับผู้เล่นคนอื่น เช่นในแบทเทิลฟรอนเทียร์) ในโปเกมอนภาคเร้ดและบลู ข้อมูลโปเกมอนจะเพิ่มในสมุดภาพง่าย ๆ โดยการดูรูปโปเกมอน เช่นในสวนสัตว์นอกเขตซาฟารีโซน ตัวละคร NPC ก็อาจทำให้สมุดภาพเพิ่มข้อมูลโปเกมอนเข้าไปได้โดยการอธิบายลักษณะของโปเกมอนระหว่างการพูดคุยกัน ข้อมูลอื่น ๆ หาได้หลังจากผู้เล่นได้รับโปเกมอนสายพันธุ์นั้น ๆ แล้ว หรืออาจจะผ่านการจับโปเกมอนป่า การพัฒนาร่างของโปเกมอน การฟักไข่ (ตั้งแต่รุ่นที่สองเป็นต้นมา) หรือการแลกเปลี่ยนโปเกมอน ข้อมูลที่จะได้เห็นเหล่านั้นเช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ชนิดสายพันธุ์ และรายละเอียดสั้น ๆ ของโปเกมอน ในภาคต่อ ๆ มา สมุดภาพรุ่นใหม่อาจมีข้อมูลรายละเอียดที่มากขึ้นเช่น ขนาดของตัวโปเกมอนเปรียบเทียบกับตัวผู้ฝึก หรือรายชื่อโปเกมอนแยกตามถิ่นที่อยู่อาศัย (ข้อมูลนี้จะเห็นได้แค่ในภาคไฟร์เร้ดและลีฟกรีนเท่านั้น) สมุดภาพโปเกมอนล่าสุดสามารถจุข้อมูลของโปเกมอนทุกตัวที่รู้จักกันในปัจจุบัน เกมโปเกมอน โคลอสเซียม และโปเกมอนเอกซ์ดี:เกลออฟดาร์คเนส บนเครื่องเกมคิวบ์ มีระบบการช่วยเหลือข้อมูลโปเกมอนแบบดิจิทัล (Pokémon Digital Assistant; P★DA) ดูคล้ายกับสมุดภาพโปเกมอน แต่สามารถบอกว่าโปเกมอนรูปแบบไหนได้เปรียบหรือเสียเปรียบโปเกมอนรูปแบบไหน และยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถเฉพาะของโปเกมอนได้ด้วย[11]
ในสื่ออื่น
โปเกมอนฉบับอะนิเมะ


ซาโตชิและพิกะจูในอะนิเมะโปเกมอนตอนแรก
โปเกมอนฉบับอะนิเมะรวมถึงภาพยนตร์ดำเนินเนื้อเรื่องโดยแยกออกจากการผจญภัยต่าง ๆ ในวิดีโอเกม (ยกเว้นภาคเยลโล่ว์ ที่ดำเนินเรื่องตามเนื้อเรื่องอะนิเมะ) โปเกมอนฉบับอะนิเมะเป็นเรื่องราวภารกิจอันยิ่งใหญ่ของตัวละครหลัก "ซาโตชิ" หรือ "แอช แคทชัม" (อังกฤษ: Ash Ketchum) [12] เพื่อจะเป็นโปเกมอนมาสเตอร์ในเรื่องการฝึกโปเกมอน เขาและเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ เดินทางตามโลกที่มีโปเกมอนเต็มไปหมด[12] ในภาคแรก (original series) เริ่มต้นในวันซาโตชิได้เป็นผู้ฝึกโปเกมอนวันแรก โปเกมอนตัวแรกซึ่งเป็นโปเกมอนคู่หูคือพิกะจู ซึ่งแตกต่างจากเกมที่จะได้เลือกฟุชิงิดาเนะ ฮิโตะคาเงะ และเซนิกาเมะ[13] ซีรีส์นี้ดำเนินไปตามเนื้อเรื่องของเกมโปเกมอนภาคเร้ดและบลู ในเขตภูมิภาคที่ชื่อว่าคันโต ร่วมเดินทางไปกับ "ทาเคชิ" หรือ "บร็อก" (อังกฤษ: Brock) หัวหน้ายิมของเมืองนิบิ หรือพิวเตอร์ซิตี (อังกฤษ: Pewter City) และ "คาสึมิ" หรือ "มิสตี้" ((อังกฤษ: Misty)) น้องสาวคนสุดท้องของกลุ่มพี่น้องหัวหน้ายิมในยิมของเมืองฮานาดะ หรือเซรูเลียนซิตี (อังกฤษ: Cerulean City) ซีรีส์ต่อมาคือ Pokémon: Adventures in the Orange Islands ซึ่งเป็นการผจญภัยในหมู่เกาะออเร้นจ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของเรื่อง และเปลี่ยนตัวละครจากทาเคชิเป็น "เค็นจิ" หรือ "เทรซีย์" (อังกฤษ: Tracey) จิตรกรและผู้ดูแลโปเกมอน
ซีรีส์ต่อมา เป็นเนื้อเรื่องของโปเกมอนรุ่นที่สอง ประกอบด้วย Pokémon: Johto Journeys Pokémon: Johto League Champions และ Pokémon: Master Quest ดำเนินเรื่องในเขตภูมิภาคโจโต มีตัวละครสามคนคือซาโตชิ ทาเคชิ และคาสึมิ เช่นเดิม
การผจญภัยยังคงดำเนินต่อใน Pokémon: Advanced Battle ของซีรีส์ Pokémon: Advanced Generation ดำเนินเนื้อเรื่องตามเกมโปเกมอนรุ่นที่สาม ซาโตชิและเพื่อน ๆ เดินทางในเขตภูมิภาคโฮเอ็นซึ่งอยู่ทางใต้ ซาโตชิได้เป็นครูและผู้ให้คำปรึกษาให้กับผู้โปเกมอนมือใหม่ที่ชื่อ "ฮารุกะ" หรือ "เมย์" (อังกฤษ: May) น้องชายของเธอ "มาซาโตะ" หรือ "แม็กซ์" (อังกฤษ: Max) ก็ร่วมเดินทางด้วย แต่ไม่ได้เป็นผู้ฝึกโปเกมอน แต่เขากลับรู้ข้อมูลโปเกมอนมากมาย ในซีรีส์นี้ ทาเคชิก็มาร่วมเดินทางกับซาโตชิ แต่คาสึมิต้องกลับไปที่ยิมฮานาดะเพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้ายิม (คาสึมิ รวมถึงตัวละครอื่น ยังปรากฏในซีรีส์พิเศษ Pokémon Chronicles ด้วย ) ซีรีส์ Pokémon: Advanced Battle จบเรื่องด้วยซีรีส์ Pokémon: Battle Frontier ยึดหลักตามเนื้อเรื่องเกมภาคเอเมอรัลด์และมุมมองลักษณะของเกมภาคไฟร์เร้ดและลีฟกรีน
ซีรีส์ล่าสุดคือโปเกมอน Diamond and Pearl โดยซีรีส์นี้มาซาโตะ น้องชายของฮารุกะ ได้ออกจากกลุ่มเพื่อเลือกโปเกมอนเริ่มต้นและออกเดินทางด้วยตัวเอง และฮารุกะได้ไปเข้าร่วมเทศกาล Grand Festival ที่โจโต ซาโตชิ ทาเคชิ และเพื่อนคนใหม่ "ฮิคาริ" หรือ "ดอว์น" (อังกฤษ: Dawn) ร่วมออกเดินทางไปตามภูมิภาคซินโน
นอกจากนี้ทางรายการโทรทัศน์ โปเกมอนฉบับภาพยนตร์ 11 ภาคยังถูกสร้างขึ้น และภาคที่สิบสองก็จะปล่อยในญี่ปุ่นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ในโปเกมอนฉบับภาพยนตร์บางภาค ยังมีการสะสมสินน้ำใจ เช่นการ์ดเกม ให้สะสมด้วย
การ์ตูนโปเกมอนนั้นมีหลายภาค จนถึงทุกวันนี้ โปเกมอนยังไม่มีตอนจบ การ์ตูนเรื่องนี้ถูกผลิตเพิ่มขึ้นอีกมากมายหลายตอน แบ่งได้เป็นหลายภาค โดยภาคแรกนั้นเป็นแบบฉบับดั้งเดิม (Original series) จำนวน 274 ตอน[14] ภาคต่อที่ชื่อว่า Advance Generation หรือ AG จำนวน 191 ตอน[15] และภาคล่าสุดคือไดมอนด์แอนด์เพิร์ล (Diamond & Pearl) ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนตอนทั้งหมดเพราะยังผลิตตอนใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ
การ์ตูนโปเกมอนนั้นแบ่งตามซีซันได้ทั้งหมด 11 ซีซัน[16] ดังนี้ การ์ตูนโปเกมอนภาคแรก (Original series) เป็นการผจญภัยในเขตคันโตและโจโต แบ่งภาคเป็นซีซันได้ 5 ซีซัน ดังนี้[14]
• ซีซันที่ 1 Pokémon (EP001 - EP081) รวมทั้งสิ้น 81 ตอน
• ซีซันที่ 2 Pokémon: The Adventures in the Orange Islands (EP082 - EP116) รวมทั้งสิ้น 35 ตอน
• ซีซันที่ 3 Pokémon: The Johto Journeys (EP117 - EP157) รวมทั้งสิ้น 41 ตอน
• ซีซันที่ 4 Pokémon: Johto League Champions (EP158 - EP209) รวมทั้งสิ้น 52 ตอน
• ซีซันที่ 5 Pokémon: Master Quest (EP210 - EP274) รวมทั้งสิ้น 65 ตอน
การ์ตูนโปเกมอนภาค Advance Generation เป็นการผจญภัยในเขตโฮเอน แบ่งภาคเป็นซีซันได้ 4 ซีซัน ดังนี้[15]
• ซีซันที่ 6 Pokémon Advanced (AG001 - AG040) รวมทั้งสิ้น 40 ตอน
• ซีซันที่ 7 Pokémon: Advanced Challenge (AG041 - AG092) รวมทั้งสิ้น 52 ตอน
• ซีซันที่ 8 Pokémon: Advanced Battle (AG093 - AG145) รวมทั้งสิ้น 53 ตอน
• ซีซันที่ 9 Pokémon: Battle Frontier (AG146 - AG192) รวมทั้งสิ้น 47 ตอน
การ์ตูนโปเกมอนภาค Diamond & Pearl เป็นการผจญภัยในเขตซินโน แบ่งภาคเป็นซีซันได้จนถึงขณะนี้ 3 ซีซัน ดังนี้
• ซีซันที่ 10 Pokémon Diamond & Pearl (DP001 - DP052) รวมทั้งสิ้น 52 ตอน
• ซีซันที่ 11 Pokémon Diamond & Pearl: Battle Dimension (DP053 - DP104) รวมทั้งสิ้น 52 ตอน
• ซีซันที่ 12 Pokémon Diamond & Pearl: Galactic Battle *(DP105 - ปัจจุบัน)
สำหรับประเทศไทยนั้น เคยมีการนำโปเกมอนมาฉายทางโมเดิร์นไนน์ทีวีในรายการ โมเดิร์นไนน์การ์ตูน ตั้งแต่ซีซันแรกถึงซีซันที่ 7 โดยทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวีฉายถึงตอน A Scare to Remember (ญี่ปุ่น: ピカチュウ、ロケット団に入る!?Pikachu, Joining Rocket-dan!?: AG089) ส่วนวีซีดีในช่วงแรกบริษัท ไทก้า (TIGA) ได้ผลิต แต่ภายหลังบริษัทไรท์บิยอนด์ผลิตแทนตั้งแต่ปีแรกถึงปัจจุบัน และล่าสุด รายการโมเดิร์นไนน์ การ์ตูนได้นำการ์ตูนโปเกมอนกลับมาฉายอีกครั้ง โดยเริ่มออกอากาศตั้งแต่ซีซันที่ 10 (Pokémon Diamond & Pearl) ตอน Following a Maiden's Voyage! (ญี่ปุ่น: 旅立ち!フタバタウンからマサゴタウンへ!!Setting Off! From Futaba Town to Masago Town!!: DP001) โดยเริ่มออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553 เวลา 8.00 - 8.30 น. เป็นต้นไป[17] ส่งผลให้ตั้งแต่ตอน AG090-AG192 ไม่ได้นำมาออกอากาศทางโทรทัศน์ในไทย
ภาพยนตร์
1. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน ความแค้นของมิวทู (Pokémon: The First Movie / Mewtwo Strikes Back) (1998)
2. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน ลูเกีย จ้าวแห่งทะเลลึก (Pokémon: The Movie 2000 / Revelation - Lugia) (1999)
การต่อสู้ที่ดุเดือดของโปเกมอนจอมอหังการแห่งท้องทะเลลึก (พิเศษ: โปเกมอนผจญภัย 1 ท้ายแผ่น)
3. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน ผจญภัยบนหอคอยปีศาจ (Pokémon 3: The Movie / Lord of the "UNKNOWN" Tower) (2000)
หอคอยที่เต็มไปด้วยอำนาจมืดของโปเกมอนปริศนา (พิเศษ: โปเกมอนผจญภัย 2 ท้ายแผ่น)
4. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน ย้อนเวลาตามล่าเซเลบี (Pokémon 4Ever / Celebi A Timeless Encounter) (2001)
การต่อสู้และการไล่ล่า เพื่อแย่งชิงโปเกมอนน้อย (พิเศษ: โปเกมอนผจญภัย 3 ท้ายแผ่น)
5. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน เทพพิทักษ์แห่งนครสายน้ำ (Pokémon Heroes: Latios and Latias) (2002)
ผจญภัยในดินแดนแห่งสายน้ำ และการต่อสู้ที่ดุเดือด (พิเศษ...โปเกมอนผจญภัย 4 ท้ายแผ่น)
Advanced Generation
6. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน คำอธิษฐานแห่งดวงดาว (Pokémon: Jirachi Wish Maker) (2003)
คำอธิษฐาน ความปรารถนา และการผจญภัยที่ไม่สิ้นสุด (พิเศษ...โปเกมอนผจญภัย 5 ท้ายแผ่น)
7. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน เดโอคิซิส ปะทะ เร็คคูซ่า (Pokémon: Destiny Deoxys) (2004)
การต่อสู้ระหว่างโปเกมอนทรงพลัง ใครจะเป็นผู้ชนะ !
8. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน มิวและอัศวินคลื่นพลัง (Pokémon: Lucario and the Mystery of Mew) (2005)
ต้นไม้ผู้ให้กำเนิดโลก สู่ตำนานแห่งอัศวินและคลื่นพลังลึกลับ
9. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน เรนเจอร์กับเจ้าชายมานาฟี่แห่งท้องทะเล (Pokémon Ranger and the Temple of the Sea) (2006)
เจ้าชายแห่งท้องทะเลกับภารกิจเสี่ยงตาย เพื่อปกป้องขุนทรัพย์ใต้ทะเลลึก
Diamond and Pearl
10. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน เดียลก้า VS พาลเกีย VS ดาร์กไร (Pokémon: The Rise of Darkrai) (2007)
(ในประเทศไทย ไรบิยอนยังไม่ออกจำหน่าย)
11. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน กิราติน่ากับช่อดอกไม้แห่งท้องฟ้าน้ำแข็ง เชมิน (Pokémon: Giratina and the Sky Warrior) (2008)
(ในประเทศไทย ไรบิยอนยังไม่ออกจำหน่าย)
12. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน สู่กาลอวกาศที่เหนือกว่า (Pokémon: Arceus and the Jewel of Life) (2009)
(ในประเทศไทย ไรบิยอนยังไม่ออกจำหน่าย)
13. โปเกมอน มูฟวี่ ตอน ผู้ปกครองแห่งมายาโซรูอาร์ค (Pokémon: Phantom Ruler: Zoroark) (2010)
(ในประเทศไทย ไรบิยอนยังไม่ออกจำหน่าย)
Specials
14. โปเกมอน ตอน ต้นกำเนิดของมิวทู (Pokémon: The Birth of Mewtwo) (2000)
เป็นภาคก่อนของโปเกมอน มูฟวี่ ตอน ความแค้นของมิวทู
15. โปเกมอน ตอน การกลับมาของมิวทู (Pokémon: Mewtwo Returns) (2000)
เป็นภาคต่อของโปเกมอน มูฟวี่ ตอน ความแค้นของมิวทู (ในประเทศไทย เคยออกอากาศทางช่อง 9)
16. โปเกมอน ตอน สุดยอดโปเกมอนโคลนนิง (Pokémon: The Mastermind of Mirage Pokémon) (2006)
10th Anniversary Special ! เป็นตอนพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีโปเกมอน
ซีดี
มีการผลิตซีดีโปเกมอนขายในอเมริกาเหนือ ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเกี่ยวกับโปเกมอนฉบับภาพยนตร์ 3 เรื่องแรก หาซื้อได้บ่อย ๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2550 ซีดีที่ผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ได้วางขายโดยจุเพลงประกอบภาษาอังกฤษ 18 แทร็ค และเป็นการวางขายซีดีฉบับภาษาอังกฤษครั้งแรกที่วางขายมากกว่า 5 ปี เพลงประกอบภาพยนตร์โปเกมอนได้วางขายในญี่ปุ่นด้วย
ปี เรื่อง
29 มิถุนายน พ.ศ. 2542[18]
Pokémon 2.B.A. Master
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542[19]
เพลงประกอบภาพยนตร์ Pokémon: The First Movie
8 กุมภาพันธ์, พ.ศ. 2543
Pokémon World
9 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 Pokémon: The First Movie Original Motion Picture Score
18 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 เพลงประกอบภาพยนตร์ Pokémon The Movie 2000
พ.ศ. 2543 Pokémon The Movie 2000 Original Motion Picture Score
23 มกราคม พ.ศ. 2544
Totally Pokémon
3 เมษายน พ.ศ. 2544
Pokémon 3: The Ultimate Soundtrack
9 ตุลาคม พ.ศ. 2544
Pokémon Christmas Bash
27 มีนาคม พ.ศ. 2550
Pokémon X: Ten Years of Pokémon
โปเกมอนเทรดดิงการ์ดเกม
ดูบทความหลักที่ โปเกมอนเทรดดิงการ์ดเกม
โปเกมอนเทรดดิงการ์ดเกมเป็นเกมรูปแบบการ์ดเกม มีจุดมุ่งหมายคือการต่อสู้ของโปเกมอนในวิดีโอเกม ผู้เล่นใช้การ์ดโปเกมอนที่จะมีค่าความแข็งแกร่ง และค่าความอ่อนแออยู่ในการ์ดแต่ละใบ เกมนี้วางจำหน่ายครั้งแรกในอเมริกาเหนือโดยบริษัท วิซาร์ดออฟเดอะโคสต์ (อังกฤษ: Wizards of the Coast) ในปี พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ตาม เมื่อโปเกมอนภาครูบี้และซะฟไฟร์วางจำหน่ายออกมา นินเทนโด USA นำการ์ดเกมจากวิซาร์ดออฟเดอะโคสต์ไปผลิตแทน และเริ่มตีพิมพ์จำหน่ายเอง การขยายกิจการของบริษัทในเวลาต่อมาคือการเปิดตัว โปเกมอนอีเทรดดิงการ์ดเกม ซึ่งเป็นการ์ดที่สามารถใช้งานร่วมกัยเครื่องนินเทนโด อีรีดเดอร์ ต่อมานินเทนโดหยุดการผลิตของการ์ดเหล่านี้และต่อการปล่อย EX ไฟร์เร้ดและลีฟกรีน นินเทนโดวางจำหน่ายเทรดดิงการ์เกมเวอร์ชันเกมบอยคัลเลอร์ในปี พ.ศ. 2541 และวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในปี พ.ศ. 2543 ด้วย โปเกมอนเทรดดิงการ์ดเกมนี้ยังประกอบด้วยการ์ดเวอร์ชันดิจิทัลจากการ์ดธรรมดา และการ์ดใหม่ 2 ชนิดแรก (จังเกิล และ ฟอสซิล) และยังมีการ์ดมากมายที่ผลิตขึ้นเฉพาะ ซึ่งต่อมาได้วางขายเฉพาะในญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2544
มังงะ
โปเกมอนฉบับมังงะ (หนังสือการ์ตูน) นั้นมีหลากหลาย โดยผู้ที่ผลิตวางขายในภาษาอังกฤษคือ Viz Communications และ Chuang Yi มังงะนั้นแตกต่างจากวิดีโอเกมและการ์ตูนมากในเรื่องของผู้ฝึกโปเกมอน สามารถฆ่าโปเกมอนของฝ่ายตรงข้ามได้
คำวิจารณ์และข้อถกเถียง
หลักศีลธรรมจรรยา
โปเกมอนได้รับคำวิจารณ์จากศาสนิกชนของศาสนาคริสต์ ยูดาย และอิสลาม ชาวคริสต์เห็นว่าเกี่ยวกับความลึกลับและรุนแรงของโปเกมอน รวมถึงโปเกมอนวิวัฒนาการของโปเกมอน (ซึ่งเกี่ยวข้องกับทฤษฎีวิวัฒนาการ) ที่กล่าวถึงการกำเนิดของสรรพสิ่งที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ชาววาติกันแย้งว่าโปเกมอนเทรดดิงการ์ด และวิดีโอเกมนั้นมีจินตนาการสร้างสรรค์อย่างเต็มเปี่ยม และไม่มีผลกระทบข้างเคียงในเรื่องหลักศีลธรรมเลย ในสหราชอาณาจักร เกม "คริสเตียน เพาเวอร์ การ์ด" ได้เปิดตัวในปี พ.ศ. 2542 เป็นคำตอบที่ใช้อ้างว่าโปเกมอนเป็นซาตาน เกมนี้ดูคล้ายกับโปเกมอนเทรดดิงการ์ดแต่มีส่วนสำคัญบนการ์ดมาจากคัมภีร์ไบเบิล ในปี พ.ศ. 2542 กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่อต้านการสบประมาทของชาวยิวได้กดดันให้นินเทนโดทำการ์ดโปเกมอนสำหรับตัวโกลแบท และเมตามอน เพราะการ์ดเหล่านี้บรรยายให้เห็นภาพเหมือนด้านซ้ายของสัญลักษณ์สวัสติกะ หมายถึงการต่อต้านเซมิทีส แม้ว่านินเทนโดจะตั้งใจว่าจะวางขายการ์ดเหล่านี้เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่นินเทนโดก็มีกำหนดการปล่อยเวอร์ชันอเมริกาเหนือในปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2544 ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประกาศห้ามนำเกมโปเกมอนและการ์ดเข้าประเทศ โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการสนับสนุนกลุ่มไซออนนิสม์ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎของชาวมุสลิม โปเกมอนยังถูกกล่าวหาเนื่องจากส่งเสริมการชนไก่ และพวกวัตถุนิยม ในปี พ.ศ. 2542 เด็กชายอายุ 9 ขวบ 2 คน ฟ้องร้องนินเทนโด เพราะเขาอ้างว่าเกมโปเกมอนเทรดดิงการ์ดทำให้เขาติดการพนันงอมแงม
เกี่ยวกับสุขภาพ
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นถูกส่งเข้าโรงพยาบาลหลังมีอาการลมชักกะทันหัน ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นจากการดูการ์ตูนโปเกมอนตอนที่ 38 (ญี่ปุ่น: でんのうせんしポリゴンComputer Soldier Porygon: EP038) เป็นผลให้ตอนนี้ไม่ได้ออกอากาศอีก ในโปเกมอนตอนนี้ จะมีการระเบิดขึ้นและมีแสงสีแดงกับสีน้ำเงินสลับกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการระบุว่าแสงเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดอาการลมชัก แม้ว่าคน ๆ นั้นจะไม่เคยมีประวัติของโรคนี้มาก่อนก็ตาม จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีสื่อล้อเลียนโปเกมอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยปรากฏการเย้ยหยันในเรื่องเดอะซิมป์สันส์ ตอน Thirty Minutes over Tokyo และเรื่องเซาธ์ปาร์ค ตอน Chinpokomon
มอนสเตอร์ อิน มายพ็อคเก็ต
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 บริษัทผู้ผลิตของเล่นขนาดเล็ก Morrison Entertainment Group ที่ตั้งอยู่ที่แมนฮัตตันบีช แคลิฟอร์เนีย ฟ้องร้องนินเทนโดว่าแฟรนไชส์โปเกมอนละเมิดตัวละครของมอนสเตอร์อินมายพ็อคเก็ต ที่ตนเป็นผู้ผลิต โดยผู้พิพากษาตัดสินว่าไม่ใช่การละเมิด ดังนั้น Morrison จึงฟ้องอุทธรณ์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544
อิทธิพลทางวัฒนธรรม
เนื่องจากความนิยมของโปเกมอน ส่งผลให้มีโปเกมอนเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยม ตัวละครของโปเกมอนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่นบอลลูนรูปพิกะจูในขบวนพาเหรดวันขอบคุณพระเจ้าของเมซี่ (Macy's Thanksgiving Day Parade) เครื่องบินโบอิง 747-400 รูปโปเกมอน สินค้าโปเกมอนนับพัน และสวนสนุกโปเกมอนในเมืองนาโกยะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2548 และในไทเป พ.ศ. 2549 โปเกมอนยังปรากฏบนปกของนิตรสารไทม์ของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2542 การแสดงตลกชื่อ Drawn Together มีตัวละครชื่อ ลิงลิง (Ling-Ling) ที่มีลักษณะล้อเลียนพิกะจู และการแสดงอื่น ๆ อีกหลายการแสดงเช่น ReBoot เดอะซิมป์สันส์ South Park The Grim Adventures of Billy and Mandy และ All Grown Up! ที่ได้อ้างถึงโปเกมอนระหว่างเนื้อเรื่อง โปเกมอนยังถูกนำเสนอในรายการ I Love the '90s: Part Deux ของสถานีโทรทัศน์ VH1 อีกด้วย การแสดงสดชื่อว่า โปเกมอนไลฟ์ (Pokémon Live!) ได้ทัวร์ไปในสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2543 โดยแสดงตามเนื้อเรื่องโปเกมอนฉบับอะนิเมะ แต่มีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับต่อเนื่องของเนื้อเรื่องในการแสดงนี้
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 นินเทนโดเปิดร้านค้าชื่อว่า Pokémon Center ณ ศูนย์กลางร็อกเฟลเลอร์ในนิวยอร์ก โดยออกแบบขึ้นหลังร้าน Pokémon Center 2 แห่งในโตเกียวและโอซาก้า ซึ่งอาคารนี้ในเนื้อเรื่องเป็นที่ที่ผู้ฝึกโปเกมอนนำโปเกมอนมารักษาอาการเจ็บป่วย ร้านค้านี้ขายสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับโปเกมอน มี 2 ชั้น โดยเรียงเป็นลำดับสินค้าตั้งแต่เสื้อยืดสะสมไปจนถึงตุ๊กตาโปเกมอน ร้านแห่งนี้ยังเปิดตัว เครื่องแจกจ่ายโปเกมอน (Pokémon Distributing Machine) ที่ผู้เล่นจะวางเกมโปเกมอนลงไปเพื่อรับไข่โปเกมอนที่แจกขึ้นเฉพาะเวลานั้นเท่านั้น นอกจากนี้ร้านแห่งนี้ยังมีโต๊ะสำหรับให้ผู้เล่นเข้าไปเล่นโปเกมอนเทรดดิงการ์ดเพื่อดวลกัน ร้าน Pokémon Center นี้ปิดตัวลงและสร้าง Nintendo World Store ขึ้นมาแทนที่ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น